บ้านเณรของมิสซังสยาม

  • Print
คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ 
 
พระสังฆราช Lambert de La Motte เดินทางมาถึงสยามในปี ค.ศ. 1662 และพระสังฆราช Francois Pallu เดินทางมาถึงสยามในปี ค.ศ. 1664  พระสังฆราชทั้ง 2 ท่าน พร้อมทั้งบรรดามิชชันนารีชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาด้วยกัน พร้อมใจกันจัดการประชุม Synod ขึ้นที่อยุธยาในปี ค.ศ. 1664 ก่อตั้ง College General  หรือวิทยาลัยกลางขึ้น และถือว่าเป็นวิทยาลัยกลางแห่งแรกของคณะสงฆ์ M.E.P. วิทยาลัยกลางนี้เรียกว่า  “บ้านเณรกลางก็ได้” เนื่องจากมีจุดมุ่งหมายที่จะผลิตสงฆ์พื้นเมืองโดยรับเณรจากประเทศต่างๆ ใกล้เคียงนั้นมาอบรมให้เป็นพระสงฆ์ วิทยาลัยกลางแห่งนี้ตั้งขึ้นที่หมู่บ้านมหาพราหมณ์ ต่อมาอาศัยความช่วยเหลือของเจ้าพระยาวิชาเยนท์ หรือ Constantine Phalcon ก็ได้  ย้ายมาตั้งที่อยุธยา หลังจากนั้นไม่นานด้วยความไม่เหมาะสมบางประการ ก็ย้ายกลับไปที่มหาพราหมณ์อีกครั้งหนึ่ง วิทยาลัยกลางแห่งนี้ถูกตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1665 ความเป็นมาของวิทยาลัยกลางแห่งนี้มีมายาวนานมาก เพราะต่อมาได้ย้ายจากสยามไปอยู่ที่อันนาม  และจากอันนามย้ายไปอยู่ในประเทศอินเดีย และที่สุดก็ย้ายไปอยู่ที่ปีนัง เป็นที่น่าสังเกตว่า  การย้ายบ้านเณรกลางนี้ มาอยู่ที่ปีนัง ได้รับอนุมัติจากพระสังฆราชการโนลท์ Garnault ซึ่งเป็นประมุขของมิสซังสยามอยู่ในเวลานั้น เนื่องจากว่าปีนังในเวลานั้นอยู่ในเขตปกครองของมิสซังสยาม ประวัติความเป็นไปอย่างละเอียดของบ้านเณรกลาง หรือวิทยาลัยกลางนี้ ได้ถูกเล่าไว้อย่างละเอียดโดยคุณพ่อ Paul Destombes
 
ในบทความนี้ ผมจะเล่าเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ  ที่รู้มาเกี่ยวกับบ้านเณรแห่งแรกที่อยุธยา  เพื่อจะได้มองเห็นภาพบ้านเณรในสมัยก่อนได้บ้าง และเห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของบ้านเณร เพราะจุดมุ่งหมายหลักที่ Propaganda Fide ส่งบรรดามิชชันนารีมาก็คือ การก่อตั้งคณะสงฆ์พื้นเมืองขึ้นมาทำงานแพร่ธรรม 
 
วิทยาลัยกลางแห่งแรกนี้เรียกกันทั่วๆ ไปว่า วิทยาลัยกลางอยุธยา เพราะที่จริงหมู่บ้านมหาพราหมณ์ ก็อยู่ไม่ไกลจากอยุธยานัก แต่ชื่อที่ตั้งขึ้นสำหรับวิทยาลัยกลางแห่งนี้คือ วิทยาลัยนักบุญยอแซฟ นอกจากจะเป็นวิทยาลัยสำหรับอบรมผู้ที่มีกระแสเรียกเป็นพระสงฆ์แล้ว  ยังเปิดเป็นโรงเรียนสอนภาษา และวิทยาศาสตร์แก่เด็กๆ ลูกหลานของข้าราชการในสมัยนั้นด้วย  โดยพระมหากษัตริย์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กๆ  เหล่านั้น สำหรับพวกที่เป็นเณรนั้นก็มาจากประเทศต่างๆ  ใกล้เคียง เช่น อินเดีย  จีน อันนาม ตังเกี๋ย กัมพูชา โคจินจีน และญี่ปุ่น เป็นต้น  คุณพ่อ Pascal M. D’Elia ในหนังสือเล่มหนึ่งของท่านบอกว่า ในปี ค.ศ. 1669 ได้มีการบวชเณรบางคนให้เป็นพระสงฆ์ที่กรุงศรีอยุธยา พระคาร์ดินัล Barberini เจ้ากระทรวง Propaganda Fid ได้มีจดหมายแสดงความยินดีมายังพระสังฆราช Lambert de La Motte  พร้อมทั้งขอให้พยายามแสวงหากระแสเรียกให้มากขึ้นด้วย
 
ความจริงเรารู้เรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไปในบ้านเณรกลางนี้น้อยมาก  พระสังฆราช Lambert de La Motte กล่าวถึงโครงการที่จะสร้างวิทยาลัยกลางนี้ไว้ว่า “จะสร้างสามเณราลัย และวิทยาลัยถาวรแห่งหนึ่ง ที่รับคนทุกชาติ และจุคนได้ 100 คน” หลังจากที่วิทยาลัยกลางได้ก่อตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว อธิการองค์แรกของวิทยาลัยกลางนี้ได้แก่ บาทหลวง Laneau (ต่อมาเป็นพระสังฆราช Laneau  ประมุของค์แรกของมิสซังสยาม) 
 
ในบรรดาสามเณรที่มาจากที่ต่างๆ  นี้ หลายๆ  คนได้เริ่มเรียนเทววิทยาที่เมืองมาเก๊าและเมืองกัวมาแล้ว  ที่เด่นๆ มีประมาณ 10 คน  วันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1666  พระสังฆราชประกอบพิธีโกน (Tonsure) ให้แก่สามคนในพวกเขา คุณพ่อ A. Launay เล่าเรื่องชีวิตในวิทยาลัยกลางนี้ไว้ค่อนข้างชัดเจนดังนี้ 
 
“ในสำนักนี้ มีการพิจารณารำพึงวันละ 2 ครั้ง คือเวลาเช้าและเวลาค่ำ พระสังฆราชกับพวกพระสงฆ์ มิชชันนารีร่วมในการพิจารณารำพึงเวลาเช้า  กฎวินัยยังกำหนดให้มีการพิจารณามโนธรรมเฉพาะเรื่อง (เพื่อแก้นิสัยไม่ดีข้อใดข้อหนึ่งโดยเฉพาะ)  การอ่านหนังสือ เวลารับประทานอาหารและการให้โอวาท อบรม  นักเรียนสวมเสื้อหล่อสีม่วงตามแบบ โปรตุเกสอย่างน้อยในวันอาทิตย์  กล่าวโดยย่อ วิทยาลัยแห่งนี้ได้รับการจัดให้มีระเบียบเหมือนสถาบันที่คล้ายคลึงกันในประเทศฝรั่งเศส อธิการองค์แรกของวิทยาลัยดังกล่าว คือ บาทหลวง Laneau ซึ่งพระสังฆราช Lambert กล่าวว่าเป็น “คนน่านิยมยกย่องที่สุด  คนหนึ่งที่ข้าพเจ้ารู้จัก” ท่านทำงานด้วยความเอาใจใส่และตั้งอกตั้งใจอย่างเหลือเชื่อ” 
 
วิทยาลัยกลางนี้มี ความเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ วันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1668 บุตรของชาวโปรตุเกสคนหนึ่ง ชื่อ ฟรังซิส  เปเรส ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ เขาได้เริ่มเรียนที่เมืองกัว แล้วมาเรียนต่อจนจบที่วิทยาลัยกลางโดยมีพระสังฆราช Lambert  เป็นจิตตาธิการ หลังจากนี้ไม่กี่เดือนได้มีการบวชผู้สอนคำสอนชาวตังเกี๋ยสองคนซึ่ง คุณพ่อ Deydier  เป็นผู้สอนอบรมให้เป็นพระสงฆ์ แล้วต่อมาก็มีการบวชผู้สอนคำสอนชาวโคจินจีนอีกบางคนที่คุณพ่อ Hainques เป็นผู้สอนอบรม 
 
ในปี ค.ศ.1670 หรือ ค.ศ. 1671 คุณพ่อลาโน  ได้มีคุณพ่อ Langlois ซึ่งเป็นคนขยันและสติปัญญาเฉียบแหลมมาก มาเป็นผู้ช่วย 
 
ในปี ค.ศ.1672  มีผู้ช่วยคนหนึ่งเป็นฆราวาส ซึ่งเราไม่รู้จักชื่อ กับผู้ชายอีกคนหนึ่งเป็นพระสงฆ์คณะฟรังซิสกัน ชื่อ Louis de La Mere de Dieu. คุณท่านได้รับตำแหน่งอธิการวิทยาลัยต่อจากคุณพ่อ Lanea คุณพ่อ Langlois  พ่อ Louis  เป็นชาวโปรตุเกส แต่ท่านไม่มีอคติต่อพวกมิชชันารีฝรั่งเศสเหมือนเพื่อนร่วมชาติของท่าน  ท่านมีความสามารถพิเศษในด้านการแนะนำเยาวชน และการสอนนอกเหนือ จากการถือวินัยอย่างเคร่งครัดและมีจิตตารมณ์การถือความยากจน 
 
ในปี ค.ศ. 1675 บ้านเณรใหญ่ประกอบไปด้วย รองสังฆานุกร (Subdeacon) 1 คน  จากมาเก๊า ผู้รับศีลโกน ชาวโคจินจีน 6 คน นักบวช 1 คน (Clerc)  จาก Tenasserim  และเยาวชนอีก 20 คน จากชาติต่างๆ รวมทั้งหมด 28 คน ส่วนบ้านเณรเล็กถูกแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นของเณรที่มาจากอันนาม ตังเกี๋ย และโคจินจีน ซึ่งพูดภาษาเดียวกัน แม้จะมีการออกเสียงต่างกัน  อีกชั้นหนึ่งเป็นชั้นของเณรที่มาจากจีน, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, อินเดีย, โปรตุเกสและอื่นๆ  ประมาณทั้งหมด 20 คน ชั้นสุดท้ายเป็นชั้นของพวกสยามซึ่งมีจำนวนมากที่สุดนอกจากนี้คุณพ่อ Laneau และคุณพ่อ Langlois  ยังได้เปิดสอนวิชาภาษาบาลี แก่พวกเณรด้วย เพื่อจะสามารถทำงานกับชาวพุทธได้ดีขึ้น 
 
ปี ค.ศ. 1680 พระสังฆราช Laneau  ได้ตัดสินใจย้ายวิทยาลัยกลางไปอยู่ที่หมู่บ้านมหาพราหมณ์และมอบวิทยาลัยกลางนี้ให้อยู่ในความอุปภัมภ์ของอารักขเทวดา(Saints Anges)  ในส่วนที่เป็นบ้านเณรจึงเรียกว่า บ้านเณรยอแซฟ 
 
ปี ค.ศ. 1682 มีเณรทั้งหมด 39 คน ซึ่งกำลังฝึกอบรมตนเองที่วิทยาลัยกลางแห่งนี้  โดย 11 คน มาจากตังเกี๋ย 8 คน จากโคจินจีน 3 คน จากมะนิลา 1 คน มาจากเบงกอล 3 คน จากสยาม 1 คน และจีน ที่เหลือก็เป็นชาวโปรตุเกส ชาวเปรู  หรือเชื้อชาติญี่ปุ่น คุณพ่อ D’Elia กล่าวว่า บรรดาสามเณรเหล่านี้ ได้รับการฝึกอบรมอย่างดีเยี่ยม จะเห็นได้จากตารางเวลา ซึ่งท่านได้พบจากบันทึกของพวกเณรจีนในประเทศจีน “สามเณรจีนได้มาเรียนที่วิทยาลัยกลางอยุธยา”
 
• 5.00 น.     ตื่นนอน
• 5.30 น.     ภาวนา
• 6.00 น.     เรียน (Study)
• 7.00 น.     มิสซา
• 8.00 น.     อาหารเข้า และหย่อนใจ
• 9.00 น.     เรียน (Study)
• 10.00 น.   เข้าห้องเรียน (Class)
• 11.30 น.   หัดขับร้อง หรือสวดมนต์ (Plain Chant)
• 12.00 น.   อาหารเที่ยง  และหย่อนใจ
• 14.00 น.   เรียน (Study)
• 15.30 น.   เข้าห้องเรียน (Class)
• 17.00 น.   ทำงาน (Manual  Work)
• 18.30 น.   สวดสายประคำ อาหารค่ำ และหย่อนใจ
• 20.00 น.   สวดวัตรเย็น  อ่านหนังสือศรัทธา และเรียนจนถึงเวลานอน 
 
พระสงฆ์จีนที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งชื่อ Andrew Lee (ค.ศ. 1692-1774) เกิดที่เมืองฮานจุง ในแคว้นเชนสี เป็นผู้ที่ผ่านการอบรมที่สยามและรับศีลบวชใน ปี ค.ศ. 1725 คุณพ่อผู้นี้ถูกนับว่าเป็นพระสงฆ์ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์พระศาสนจักรจีนมากที่สุดผู้หนึ่ง และเป็นผู้ที่ถูกเสนอให้เป็น Apostolic Vicar แม้ในขณะที่ท่านอายุ 72 ปี แล้ว. 
 
วัที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1685 ทูตฝรั่งเศสโดยการนำของ Chevalier de Chaumont  มาถึงสยาม และได้มาเยี่ยมสามเณราลัยนักบุญยอแซฟ และวิทยาลัยกลางมหาพราหมณ์ L’Abbe de Choisy ได้บรรยายถึงพระสงฆ์  สามเณรจากชาติต่างๆ  ไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งบรรยายถึงความสามารถต่างๆ  ของสามเณร ในด้านภาษาลาตินและอื่นๆ ไว้ด้วย ท่านกล่าวว่าท่านเชื่อว่าท่านอยู่ในบ้านเณรของ Saint  Lazare  ในฝรั่งเศส  มีการสอนปรัชญาและเทวศาสตร์เหมือนที่กรุงปารีส 
 
ปี ค.ศ. 1686 พระสังฆราช Laneau ได้ส่งสามเณรไทยผู้หนึ่งอายุ20 ปี Antoine Pinto  มาศึกษาที่วิทยาลัยของ Propaganda Fide  ที่โรม ในขณะที่อยู่ระหว่างทางและหยุดที่กรุงปารีส  สามเณรผู้นี้ได้รับอนุมัติให้เสนองานเขียนชิ้นหนึ่งต่อหน้าบรรดาอาจารย์ของมหาวิทยาลัย Sorbonne โดยทำการเสนอ เป็นภาษาลาติน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม งานเขียนชิ้นนี้ไม่ใช่เป็นงานเขียนเพื่อปริญญาเอก แม้จะเรียนกว่าเป็นวิทยานิพนธ์ก็ตาม แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับงานเขียนด้านการศึกษาเชิงวิชาการ และนำมาเสนอต่อหน้าผู้ฟังอย่างสง่าเท่านั้น วันรุ่งขึ้นสามเณร Pinto ก็ได้กระทำเช่นเดียวกันนี้ที่ Notre-Dame ในห้องที่ชื่อว่า L’officialite ที่โรม  ท่านก็ได้อภิปรายต่อหน้าพระสันตะปาปา พระคาร์ดินัล และพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่  และก็ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน. 
 
ตัวอย่างทั้งหมดนี้ย่อมแสดงว่า งานของวิทยาลัยกลางที่อยุธยานี้ ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แม้จะเพิ่งเปิดมาได้เพียง 20 ปีเท่านั้น องค์ประกอบประการหนึ่งของความสำเร็จนี้ก็คือ การอบรมอย่างเข้มงวดอย่างมีวินัย ซึ่งก็เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมสมัยนั้น คุณพ่อ Guennou ยังเสริมด้วยว่าการใช้ภาษาลาตินเป็นภาษาพูดแค่เพียงภาษาเดียวในวิทยาลัยเป็นองค์ประกอบหนึ่งสำหรับความสำเร็จของวิทยาลัยกลางที่อยุธยา       
 
ในปี ค.ศ. 1686 เจ้าพระยาวิชาเยนท์ หรือ Constantine Phalcon  เสนอพระสังฆราช Laneau  ให้ย้ายวิทยาลัยกลางมาที่อยุธยา ซึ่งท่าน Laneau  ก็เห็นด้วย  ในปีนั้นมีสามเณรใหญ่ 22 คน  และสามเณรเล็กอีก 47 คน  แต่ก็อยู่ที่อยุธยาไม่นาน  ก็ย้ายกลับมาอยู่ที่มหาพราหมณ์อีกครั้งหนึ่งเพื่อความสงบเงียบ วิทยาลัยกลางแห่งนี้มีอยู่ที่มิสซังสยามจนถึงปี ค.ศ. 1760 เมื่อพม่าเริ่มบุกกรุงศรีอยุธยา และทำลายกรุงศรีอยุธยาได้ในปี ค.ศ. 1767 วิทยาลัยกลางถูกย้ายไปอยู่ที่ Hondat  จากนั้นย้ายไปอยู่ที่กัมพูชา ที่ Virampatnam  ใน India  และในปี ค.ศ. 1808 ย้ายมาอยู่ที่ปีนัง 
 
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน  เราไม่มีวิทยาลัยกลางสำหรับสามเณรชาติอื่นๆ เรามีบ้านเณรใหญ่แสงธรรม สำหรับอบรมเณรที่จะบวชเป็นพระสงฆ์ ที่มาจากสังฆมณฑลต่างๆ และคณะนักบวชต่างๆ  ทั่วประเทศไทย และสำหรับอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ  เราก็มีบ้านเณรนักบุญยอแซฟ สำหรับอบรมเณรเล็ก ที่สามพราน ความแตกต่างของการอบรม  ในอดีตและปัจจุบันย่อมมีเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับบ้านเณรยอแซฟนี้ได้รักษาองค์อุปถัมภ์นี้ไว้อย่างเหนียวแน่น  เพราะชื่อบ้านเณร ก็ชวนให้เราระลึกถึง บ้านเณรยอแซฟแห่งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา  นี่คงเป็นของขวัญอันล้ำค่าที่พระเป็นเจ้าได้มอบให้แก่เราคริสตชนชาวไทย  และเรารักษาของขวัญชิ้นนี้เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้. 
 
จากหนังสือสารอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ 
ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ค.ศ.1990 หน้า 9-12