วิทยาลัยกลางย้ายไปที่มหาพราหมณ์

        ในปี ค.ศ. 1675 เกิดไฟไหม้ขึ้นที่บ้านเณรของชาวสยาม พระสังฆราชลาโนจึงได้ย้ายส่วนหนึ่งของบ้านเณรไปอยู่ที่มหาพราหมณ์ในปี ค.ศ. 1679 ซึ่งอยู่ห่างเหนือของกรุงศรีอยุธยาห่างออกไปประมาณ 8 กิโลเมตร  เป็นที่ดินพระราชทานเช่นกัน ผู้บันทึกเหตุการณ์คนหนึ่งบันทึกไว้ว่า  เหตุที่ย้ายวิทยาลัยกลางในครั้งนี้  “เป็นเพราะริ้นและยุงชุมจนนักเรียนเรียนหนังสือไม่ได้” นอกจากนั้นยังมีเหตุอื่นๆ อีก เช่น เนื่องจากวิทยาลัยกลางรวมอยู่ในเขตสามเณราลัย อันหมายถือสำนักพระสังฆราช บ้านพักพระสงฆ์ และโบสถ์ ซึ่งทั้งคริสตังและคนต่างศาสนาพากันมาไม่ขาดสาย จึงไม่ใช่สถานที่ที่นักเรียนจะมีความสงบได้เท่าที่พึงปรารถนาเรื่องนี้ พระสังฆราชลาโนเข้าใจท่านจึงขอพระราชทานที่ดินแห่งหนึ่งที่มหาพราหมณ์จัดให้สร้างบ้านที่ทำด้วยไม้ไผ่ และใบไม้หลายหลังและอุทิศสิ่งที่ก่อสร้างนี้แต่เทวดาทั้งหลายท่านส่งสามเณรเล็กจำนวนราว 30 คนไปก่อนคุณพ่อปัลโกต์  “เป็นผู้ดูแลวิทยาลังกลางทุกอย่าง  เว้นแต่ในเรื่องวิญญาณซึ่งเป็นหน้าที่ของคุณพ่อเฟเรต์” มิช้าต่อมา สามเณรใหญ่ก็ได้ยกไปอยู่ที่มหาพราหมณ์ด้วย ดังนี้จึงมีสามเณรอยู่ 2 แผนก 
 
        อาจารย์ที่สำคัญๆ ในยุคนี้ก็มีคุณพ่อดือแซน, ปัสโกต์ และโณเรต์ ไม่นับคุณพ่อแบ็ง ซึ่งเป็นผู้สอนได้ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย ซอร์บอน เป็นมิชชันนารีอยู่ในประเทศจีน และมาอยู่ที่นี่พักหนึ่ง คุณพ่อดือแซน เป็นักเทวศาสตร์และนักกฎหมายพระศาสนจักรที่มีชื่อ ทุกวันท่านบรรยายปัญหาต่างๆ สอนอย่างอ่อนโยน ไม่ขึ้นเสียงดัง และมีความอดทนดีมาก ท่านเขียนข้อประเด็นของเรื่องปัญญาต่างๆ  และวิธีแก้ แล้วส่งเรื่องทั้งหมดไปยังมิสซังตังเกี๋ยและโคจินจีน
 
       ในปี ค.ศ. 1682 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการวิทยาลัยกลาง และในปีเดียวกันนั้นเอง ท่านยังได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งเบริธ เมื่อวันที่ 16 เมษายน แต่เนื่องจากมีโรคภัยไข้เจ็บ ท่านไม่สามารถรับได้ทั้งสองตำแหน่ง วันที่ 2 มกราคม ค.ศ.1684 ท่านมีหนังสือทูลพระสันตะปาปาไม่ยอมรับตำแหน่งพระสังฆราช แต่กรุงโรมไม่ฟังเสียง สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อรบเร้าให้ท่านรับ แต่หนังสือของสมณกระทรวงมาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อผู้รับเลือกเป็นพระสังฆราชถึงแก่มรณภาพไปนานแล้ว คือท่านวายชนม์เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ.1684 โดยที่ทุกคนประทับใจ ในเมื่อท่านนอบน้อมตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า วันหนึ่งมีคนถามว่า มีเคล็ดลับอะไร เวลาท่านเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส จึงมีความอดทนเช่นนั้น ท่านตอบว่า “ฉันก็นึกอยู่ในใจเสมอว่า พระเยซูเจ้าทรงทนทุกข์อะไรเวลารับทนทรมาน และตายบนกางเขน”  
 
      คุณพ่อปัสโกต์  สอนวิชาปรัชญา  เหมือนกับที่เคยสอนในประเทศฝรั่งเศส  คุณพ่อวาเชต์เขียนเล่าว่า  “แต่บางครั้งท่านอึดอัดใจกับคำโต้แย้งของนักเรียนที่ท่านไม่เคยได้ยินในโรงเรียนมาก่อน” ทุกวันเสาร์ ท่านจัดให้มีการทบทวนเรื่องที่ท่านสอนมาในสัปดาห์นั้น และทุกเดือนยังจัดให้มีการแสดงและชี้แจงความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งให้ทุกคนฟังด้วย ท่านแต่งหนังสือปรัชญาอย่างย่อๆ สำหรับนักเรียนของท่าน แต่ในหนังสือนั้นมีความคิดของ เดสการ์ต ซึ่งดูจะไม่ถูกต้อง พระสังฆราชปัลลือ บังคับให้คุณพ่อสัญญา และสาบานจะส่งมอบคำสอนที่สอนให้แก่ท่าน หรือท่านลาโน คุณพ่อปัสโกต์ได้รับความสะเทือนใจจากคำสั่งนี้มาก ท่านทำการทรมานแบบแปลกๆ พิสดาร จนไม่สบาย สติปัญญาเสื่อม ที่สุด ผู้ใหญ่ต้องส่งคุณพ่อกลับไปประเทศฝรั่งเศส 
 
ยกสามเณราลัยนักบุญโยเซฟให้แก่สามเณราลัยมิสซังต่างประเทศ
      วันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1684 พระสังฆราชลาโน ยกกรรมสิทธิ์และการปกครองสามเณราลัยแห่งกรุงสยามให้แก่สามเณราลัยมิสซังต่างประเทศที่กรุงปารีส สามเณราลัยมิสซังต่างประเทศก็รับการยกให้ดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ปีเดียวกัน สิ่งที่ยกให้นั้นได้แก่ สามเณราลัยในฐานะเป็นศูนย์ปกครองมิสซังต่างๆ แต่ไม่มีการระบุเป็นพิเศษถึงวิทยาลัยกลาง อย่างไรก็ตามเนื่องจากใครๆ ก็คิดว่าวิทยาลัยกลาง หมายรวมถึงสิ่งก่อสร้างที่บ่งอยู่ในคำว่า “สามเณราลัย” บรรดาคณาจารย์เมื่อตอบรับหนังสือของพระสังฆราชลาโน ก็ส่งแผนปฏิบัติมาบอกว่า “จำเป็นต้องเขียนกฎวินัยเฉพาะสำหรับสำนักที่เราจะฝึกสามเณรพื้นเมืองเหล่านี้ และกฎวินัยดังกล่าว ซึ่งเขาจะส่งมาให้เราอนุมัตินั้น จะต้องถือชั่วคราวไปก่อนจนกว่าจะมีการกำหนดแน่นอน และได้รับการอนุมัติหมดทุกอย่าง” เรื่องนี้ก็ต้องค่อยทำค่อยไปจนกว่าจะมีประสบการณ์นานๆ จนมองเห็นว่าอะไรต้องเพิ่มอะไรจะต้องตัดออก 
 
        กิจการสำคัญ คือ การอบรมสงฆ์พื้นเมืองนั้น ยังคงดำเนินต่อไปอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าสภาพของวิทยาลัยกลางจะเปลี่ยนไป
 
      ในปี ค.ศ. 1686 วิทยาลัยกลางมีสามเณร 58 คน แบ่งเป็น 6 ชั้น คุณพ่อเลอ เชอวาลีเอร์ สอนภาษาลาตินในสามชั้นต้น คุณพ่อมองโดรี สอนวรรณคดีลาติน ในชั้นที่ 4 และที่ 5 ส่วนคุณพ่อโฌเรต์ สอนเทวศาสตร์ในชั้นปีที่ 6
 
     วันหนึ่ง ฟอนคอลไปเยี่ยมวิทยาลัยกลางที่มหาพราหมณ์  “เขาแสดงอาการว่ามีความพึงพอใจมาก”  เราอยากตั้งวิทยาลัยขึ้นใหม่ที่อยุธยา โดยมีเหตุผลประการหนึ่ง ซึ่งเราทายไม่ถูกว่าเป็นเหตุผลอะไร พวกมิชชันนารียอมโอนอ่อนตามความปรารถนาของเขาแต่หลายคนเสียดายที่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามความปรารถนาดังกล่าว   ตามคำกราบทูลของฟอลคอน สมเด็จพระนารายณ์พระราชทานที่ดินให้แปลงหนึ่ง แต่เป็นที่ดินที่ผ่านมา ต้องใช้คนงานสี่ถึงห้าคนแบกดินไปถมที่ดินนั้นให้สูงขึ้นเป็นเวลาหลายเดือน ครั้งแรกสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ทำ “ด้วยไม้กระดาษและไม้ไผ่” ฟอลคอนสัญญาจะสร้างให้ใหม่เป็นอิฐ เพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ผู้ตั้ง เราตั้งชื่อสำนักใหม่นี้ว่า “วิทยาลัยคอนสตันตีเนียน” พระสังฆราชลาโน “ได้พยายามด้วยความเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่งที่จะจัดวิทยาลัยให้มีระเบียบดี” ท่านไม่ให้สามเณรใหญ่มาอยู่ที่วิทยาลัยนี้ทั้งหมด แต่ให้สามเณรใหญ่ที่เรียนเทวศาสตร์จบแล้วอยู่กับท่านที่สามเณราลัยนักบุญโยเซฟ และให้คุณพ่อปัสเซต์ เป็นอธิการของเขา 
 
       จำนวนสามเณรทั้งหมดมีเกือบถึง 80 คน มีพระสงฆ์ชาวโคจินจีน 4 องค์ และพระสงฆ์ชาวตังเกี๋ย 3 คน ซึ่งกำลังทบทวนดูเทวศาสตร์และกำลังเรียนวิชาอภิบาลสัตบุรุษ รวมทั้งหมดมีสามเณรใหญ่ 22 คน กับสามเณรเล็ก 47 คน ฟอลคอนสัญญาจะให้เงินอุดหนุนปีละ 1,500 เอกู แล้วเขาก็ถวายให้โดยไม่ขาดตกบกพร่อง 
 
        การหาอาจารย์มาสอนเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่าหาปัจจัยที่เป็นวัตถุ  ทั้งเป็นความกังวลประการหนึ่งของท่านลาโน  ผู้ไม่มีพระสงฆ์มากพอจะประกาศศาสนาและสอนเรียน ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงขอสามเณราลัยมิสซังต่างประเทศ “ให้ส่งคนใดคนหนึ่งที่มีอายุแล้ว ไม่สามารถจะเรียนภาษาต่างๆ ได้อีก แต่เข้าใจและรักวิชาครูซึ่งเป็นวิชาที่ยากไม่ใช่น้อย เพื่อจะได้ไม่คิดอะไรอื่น นอกจากเอาใจใส่วิชาครูจนกว่าชีวิตจะหาไม่” สามเณราลัยมิสซังต่างประเทศปฏิบัติให้เป็นไปตามความปรารถนานี้ไม่ได้ 
 
        แม้จะได้ย้ายอาจารย์และสามเณรมาที่อยุธยาแล้ว วิทยาลัยกลางที่มหาพราหมณ์ก็ดูเหมือนยังไม่ได้ถูกละทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง มิชชันนารีหลายองค์ เมื่อเหน็ดเหนื่อย ก็ยังไปพักผ่อนที่นั่น และเครื่องเรือนส่วนหนึ่งก็ยังอยู่ในอาคารต่างๆ ที่เราเก็บรักษาไว้
 
        ในปี ค.ศ. 1688 เกิดกบฏเกิดขึ้นในราชสำนัก สมเด็จพระนารายณ์และฟอลคอน  ถูกยึดอำนาจ และถูกฆาตกรรม กษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นมาแทน  คือ พระเพทราชา เมื่อขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ก็ได้ขับไล่ชาวฝรั่งเศส จับพวกยุโรป พวกมิชชันนารีและพวกคริสตังเข้าคุก มีการปล้น  วัดคริสตัง สามเณราลัย วิทยาลัยกลางและบ้านพักพระสงฆ์ทั่วไป 
 
       ในเหตุการณ์เหล่านี้ และในช่วงนี้ ที่เกิดการเบียดเบียน การจับไปขังไว้ในคุก บางคนก็ได้ทิ้งศาสนาไป บางคนก็ยืดหยัดมั่นคงในความเชื่อได้อย่าง เข้มแข็ง มิชชันนารีเองก็ถูกขังคุก ตายไปบ้างก็มี ป่วยบ้างก็มี ถูกกักบริเวณบ้างก็มี และพวกคริสตังก็หนีไปบ้างก็มี
 
         อย่างไรก็ตามนักศึกษาในวิทยาลัยกลางที่ปกครองโดย อธิการฝีมือเยี่ยมอย่าง คุณพ่อป๊อกเกต์ ผ่านวิกฤติกาลมาโดยได้รับความเสียหายน้อยกว่าที่เราเคยมีเหตุเกรงกันไว้  แม้ในขณะที่มีความทุกข์แค้นอย่างแสนสาหัส เขาก็เรียนต่อไปในคุกนครบาล และหลังจากถูกปล่อยออกมาให้มีอิสรภาพเพียงครึ่งๆ กลางๆ เขาก็เรียนต่อไปในกระท่อมที่สร้างให้เขาอยู่
 
       เมื่อเขามีอิสรภาพอย่างสมบูรณ์แล้ว  มีการคิดจะย้ายวิทยาลัยกลางไปอยู่ที่เมืองปอนดิเชรี ในประเทศอินเดีย แต่โครงการนี้มีอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะประเทศฝรั่งเศสกำลังทำสงครามกับประเทศฮอลันดา และประเทศอังกฤษ ไม่ช้าเราจึงเลิกล้มโครงการนี้ และสองปีต่อมา เมื่อประเทศฝรั่งเศสเสียเมืองปอนดิเชรีชั่วคราว เราก็ชื่นชมที่ได้ตัดสินใจดังนี้
 
          ต่อมา “ได้มีโครงการที่จะให้วิทยาลัยกลางที่กรุงศรีอยุธยาที่สามเณราลัย หรือจะอยู่ที่อาคารหลายหลังซึ่งไม่สู้จะดีนัก ซึ่งฟอลคอนสั่งให้สร้างขึ้น และเคยเรียกกันว่า วิทยาลัยคอนสตันตีเนียน แต่เหตุผลที่ย้ายไปอยู่ที่มหาพราหมณ์ครั้งแรก มีน้ำหนักกว่าข้อพิจารณาอื่นๆ นักศึกษาจึงเป็นต้องกลับไปอยู่ที่สำนักเดิม
 
       หลังจากจัดบ้านให้มีความสะอาดและความเรียบร้อยสักหน่อย ซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเสียหายและมีเครื่องเรือนบ้างแล้ว เขาก็ตั้งหน้าเรียนอย่างจริงจัง คุณพ่อป๊อกเกต์ พิจารณาความคิดจิตใจของเขาก็เห็นว่าคล้ายคลึงกับที่เราคิดในทุกวันนี้ เขาเรียนภาษาพูดลาตินก่อน ต่อไปก็เรียนไวยากรณ์เมื่อเรียนได้หนึ่งเดือน เด็กก็พูดได้นิดหน่อยเวลาเล่น ครั้งเรียนได้หนึ่งปี “เขาก็รู้ภาษาลาตินพอจะพูดให้คนอื่นเข้าใจได้ทุกเรื่อง  และพูดภาษาลาติน ได้คล่องแคล่วเท่ากับพูดภาษาตน แต่ไม่ใช่พูดได้ถูกต้องเท่ากับซีเซโร” ในจำนวนนี้มีคนหนึ่ง ชื่อ อันโตนีโอ ปินโต
 
         ตามคำขอร้องของพระสังฆราชลาโน คุณพ่อเฟลอรี ส่งหนังสือหลายเล่ม ที่ใช้สำหรับสามเณรมาให้พระสังฆราชเขียนไปขอบใจท่าน ในปี ค.ศ. 1693 ว่า “ท่านไม่เคยอ่านเรื่องอะไรที่ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งกว่านี้สำหรับสติปัญญา และกิริยามารยาทของชนชาติตะวันออกเหล่านี้” คุณพ่อป๊อกเกต์ ก็มีความเห็นเช่นเดียวกันด้วย 
 
       เขาสอนพิธีกรรมและการขับร้องด้วย  คือ ฝึกเณรให้ “ทำตามจารีตที่พระศาสนจักรกำหนดทุกอย่าง”   แต่ “ไม่มีคนเสียงดีๆ และคนที่เสียงพอใช้ก็หาได้ยากเต็มที” 
 
การบวช
         ในเอกสารต่างๆ ที่เรามี เกือบไม่มีพูดถึงเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งเลย คือ เรื่องการบวช แต่เรื่องนี้เป็นเป้าหมายสำคัญของวิทยาลัยกลางทีเดียว เราไม่ทราบว่า วิทยาลัยพยายามจะบรรลุถึงเป้าหมายนี้อย่างไร นานๆ ที่จะมีการพูดถึงการบวชสักครั้งหนึ่ง แต่พูดแบบแทรกในเรื่องอื่น ไม่ละเอียดจะแจ้ง และไม่มีสมุดบันทึกของจำนวนผู้บวช และวันเดือนปีของการบวช อีกประการหนึ่ง เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องบอกกล่าวเพิ่มเติมในที่นี้ว่า สามเณรส่วนใหญ่นั้น เมื่อรับศีลบวชชั้นต้นและจบการเรียนเทวศาสตร์ที่หมาพราหมณ์แล้ว ก็กลับไปมิสซังของเขา ที่ประเทศตังเกี๋ย โคจินจีน และจีน แล้วก็รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ที่บ้าเมืองของเขา 
 
        ในปี ค.ศ. 1697 พระเพทราชาก็ได้สวรรคต ซึ่งก่อนหน้านั้น พระสังฆราชลาโน ก็ได้ถึงแก่มรณภาพไปแล้วเช่นกัน ท่านได้ทั้งอำนาจการปกครองไว้กับคุณพ่อแฟเรอ ผู้เป็นรองประมุขมิสซังในเวลานั้น พระเจ้าแผ่นดินที่ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อมาคือ  สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือที่เรียกกันว่า หลวงสรศักดิ์  ซึ่งในสมัยพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ สภาพการแพร่ธรรมและพระศาสนจักรคาทอลิกยังอยู่ในสภาพที่เรียกว่า ไม่ค่อยจะดีนัก คือ ไม่มีอิสระในการทำงานในการเดินทาง ฯลฯ 
 
      วิทยาลัยกลางนี้ยังคงอยู่ในความดูแลของคุณพ่อ ป๊อกเกต์ เรื่อยมา “มีความยากลำบากในการที่จะฟื้นตัว แต่ยังมีความหวังอยู่หลายประการ” นอกจากมีอธิการแล้ว วิทยาลัยกลางไม่มีพระสงฆ์อื่นเป็นอาจารย์ มีแต่สามเณรซึ่งเรียนมาจนมีความรู้มากบ้างน้อยบ้าง เขาจำเป็นต้องให้เณรพวกนี้มาสอนเพราะไม่ได้รับมิชชันนารีจากประเทศฝรั่งเศส
 
       ต่อมาเมื่อคุณพ่อแฟเรอ ถึงแก่มรณภาพ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประมุขมิสซังองค์ต่อมาคือ คุณพ่อเดอ ซีเซ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชเกียรตินามแห่งซาบืล และเป็นประมุขมิสซังสยาม ในวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1700 ตลอดเวลาที่พระสังฆราช เดอ ซีเซ เป็นพระสังฆราชอยู่ 26 ปี ไม่มีเหตุการณ์สำคัญประการใดเกิดขึ้น ตั้งแต่เกิดมีการปฏิวัติในกรุงสยามมา วัดต่างๆ เคยเป็นอยู่อย่างไรก็ยังคงเป็นอยู่อย่างนั้น เกือบเหมือนเดิมทุกประการ
 
พระสังฆราชหลุยส์ 
ชังปีอ็อง เดอ ซีซี

ภาพน่าสลดของวิทยาลัยกลาง
      เมื่อพระสังฆราช เดอ ซีเซ มาถึงกรุงสยามใหม่ๆ วิทยาลัยกลางซึ่งอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาและมีนักเรียนราวสี่สิบคน ซึ่งล้วนเป็นชาวตะวันออก  ที่มีแต่นักเรียนชาวตะวันออกนั้น ก็เพราะหลังจากมีประสบการณ์ได้เห็นผลไม่ดีหลายครั้ง  เราจึงเลิก ไม่รับพวกฝรั่งลูกครึ่งเข้าในสำนักนี้ เนื่องจาก “ไม่มีใครเคยอยู่ตลอดสักคนเดียว เว้นแต่อันโตนีโอ ปินโต” ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1684 มาแล้ว คุณพ่อเดอ บรูฌ เคยคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะเกิดผลเช่นนี้ และก็เคยเรียนให้พระสังฆราชลาโนทราบ แต่ พระสังฆราชเป็นคนใจดีไม่อยากสั่งห้ามมิให้รับเขาส่วนพระสังฆราช เดอ ซีเซ กล้าทำท่านสั่งห้ามมิให้รับพวกฝรั่งลูกครึ่ง เข้าวิทยาลัยกลาง แต่มีการทำอย่างเคร่งครัดตามมาตรการที่สั่งหรือ ก็เห็นจะเปล่า เพราะในเดือนธันวาคม ค.ศ.1711พระสังฆราชได้ประการพิธีศีลบวชขั้นอุปสังฆานุกรให้แก่ลูกครึ่งคนหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกของชายชาวฮอลันดากับหญิงมอญ และเป็ นบุตรบุญธรรมของชาวโปรตุเกสคนหนึ่ง 
 
       คุณพ่อฌารอสซีเอร์ กับ คุณพ่อก๊อดฟรัว ผลัดกันเป็นผู้ปกครองวิทยาลัยกลาง โดยมีผู้ช่วยซึ่งบางครั้งก็เป็นคุณพ่อวินแซนแต เลน  บางครั้งก็เป็น เณรที่มีอายุแล้ว คุณพ่อทั้งสองพยายามโอบอุ้มวิทยาลัยกลางไว้อย่างสุดความสามารถ แต่ในปี ค.ศ.1707 เพราะมิสซังยากจน  จึงจำเป็นต้องส่งเณรส่วนหนึ่งกลับไปประเทศโคจินจีนและตังเกี๋ย  ยังคงเหลือเณรทั้งเล็กและใหญ่ราวสามสิบคน เข้าร่วมในพิธีต่างๆ ที่โบสถ์ หย่อนใจในส่วนของสามเณราลัยหรือตามเฉลียง “ทำให้ความเวิ้งว้างในบ้านมีชีวิตชีวาขึ้นบ้าง” 
 
       ในปี ค.ศ. 1712 คุณพ่อก๊อดฟรัว ย้ายไปอยู่มิสซังโคจินจีน พระสงฆ์ซึ่งมาจากแคว้น เบงกอล ชื่อคุณพ่อโยโรม โอลีวีเอรา ได้รับแต่งตั้งให้มาประจำอยู่ที่วิทยาลัยกลาง แต่อยู่ได้ไม่นานก็ถึงแก่มรณภาพ และเพื่อไม่ปล่อยให้เณรอยู่ในความดูแลของคุณพ่อวินแซนเต เลน  คนเดียว พระสังฆราช เดอ ซีเซ ได้รับเป็นผู้สอนปรัชญาเอง ท่านพยายามจะเอาสงฆ์เอากุสตินชาวสเปนองค์หนึ่ง ซึ่งสมัครมาทำงานกับท่านเป็นผู้ช่วย แต่อยู่ได้สิบหรือสิบสองวัน พระสงฆ์องค์นี้ก็  “วิวาทกับนักเรียน” จนพระสังฆราชต้องขอท่าน “อย่าอยู่ต่อไปอีกเลย”  
 
       วิทยาลัยกลางกำลังอยู่ในสภาพเนือยๆ ก็พอดีในปี ค.ศ.1713  พระสังฆราชเดอ บูรฌ ซึ่งถูกไล่ออกจากประเทศตังเกี๋ย เดินทางมาถึงพร้อมกับเณร 22 คน ทั้งยังมีเงินติดตัวมาด้วย ทำให้วิทยาลัยกลางกลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถูกต้องที่สุด คือ ท่านสั่งให้ย้ายวิทยาลัยกลาง กลับไปอยู่ที่มหาพราหมณ์ ซึ่งท่านได้รับมอบที่ดินคืน
 
คุณพ่อรุสต์เป็นอธิการวิทยาลัยกลาง - ความก้าวหน้า
        ในปี ค.ศ.1714 มิชชันนารีองค์หนึ่ง  ซึ่งมีความสามารถอย่างน่าสรรเสริญในการปกครองสำนักอบรม มาถึงกรุงสยาม ชื่อ คุณพ่ออังเดร รุสต์ (Andre Roost) แห่งสังฆมณฑลรูอัง  (Rouen) สอบได้ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยซอร์บอน เคยเป็นผู้ปกครองวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่กรุงปารีส ขณะนั้นเป็นเวลาวิกฤติ เพราะว่า คุณพ่อวินแซนแต เลน อาพาธมากแล้ว ไม่ช้าก็ถึงแก่มรณภาพในปี ค.ศ.1717 แต่พอคุณพ่อรุสต์ลงมือทำงาน วิทยาลัยกลางก็เปลี่ยนโฉมหน้า ท่านเป็นอธิการวิทยาลัยกลางที่มหาพราหมณ์ไม่ทันสองปีพระสังฆราชเดอ ซีเซ ก็ร้องด้วยความกระตือรือร้นว่า “ วิทยาลัยของเราสอนไม่แพ้คณะต่างๆ ที่เคร่งครัด  และมีกฏเกณฑ์ดีที่สุดในมหาวิทยาลัยกรุงปารีส ไม่ว่าในเรื่องความศรัทธาหรือในเรื่องความรู้” ท่านยังพูดในที่อื่นว่า “ข้าพเจ้าถือว่า การฟื้นฟูวิทยาลัยกลางขึ้นมาจนอยู่ในสภาพปัจจุบันนี้ เป็นของประเสริฐยิ่งกว่าทองและบุษราคัมเสียอีก” 
  
       คุณพ่อรุสต์ ได้คุณพ่อโลเลียร์ ปุยต็องตาต์ เป็นผู้ร่วมงานไม่ถึงหนึ่งปี ผู้ที่ช่วยท่านต่อไปก็คือคุณพ่อเลอแมร (Lemaire) กับเณรญวนอีกหลายคน การที่ขาดอาจารย์เช่นนี้ เป็นเพราะมิชชันนารีที่ส่งมากรุงสยามมีจำนวนน้อย กล่าวคือ ตลอดเวลาที่พระสังฆราช เดอ ซีเซ  ดำรงตำแหน่งเป็น พระสังฆราชอยู่ในมิสซังกรุงสยาม ได้รับมิชชันนารีทั้งหมดเพียงเจ็ดองค์เท่านั้น และในจำนวนเจ็ดองค์นั้น สององค์ คือ คุณพ่อก็อดฟรัว และคุณพ่อเอิ๊ต นั้นย้ายไปอยู่ประเทศโคจินจีน องค์ที่สาม คือ คุณพ่อเลอ เบรอต็อง มาจากประเทศตังเกี๋ย แต่พอมาถึงก็ถึงแก่มรณภาพ ส่วนองค์ที่สี่  คือ เดอ โลเลียร ได้รับตำแหน่งเป็นรองเหรัญญิกที่เมืองปอนดิเชรี เพราะฉะนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือคุณพ่อรุสต์ ในปี ค.ศ. 1720 พระสังฆราช เดอ ซีเซ จึงอาสาช่วยสอนภาษาลาติน ในเมื่อท่านอายุถึง 72 ปีแล้ว คุณพ่อรุสต์ซาบซึ้งในความเสียสละของพระสังฆราชเป็นอย่างยิ่ง ท่านเชื่อโดยถูกต้องว่า ประมุขของมิสซังควรประจำอยู่ที่สำนักพระสังฆราช ไม่ใช่อยู่ที่วิทยาลัยกลาง 
 
        ในปี ค.ศ. 1717 พระสังฆราชเลอ บลังก์ (Le blanc) ส่งเณรจีนมาเจ็ดคน ทำให้จำนวนเณรเพิ่มขึ้นอีก เณรที่ส่งมานั้นส่วนใหญ่เป็นเณรเก่าของ คุณพ่อเดอ ลา บาลือแอร และมีอยู่คนหนึ่งชื่อ อันเดร หลี เป็นคนมีคุณธรรม ความร้อนรนและความสามารถ จะโอบอุ้มค้ำจุนมิสซังเสฉวนไว้เป็น  เวลาหลายปี โรงเรียนเล็กๆ ที่อยุธยา ซึ่งมีนักเรียนประมาณยี่สิบคนและเป็นดังสถานที่ทดสอบนั้น ก็ส่งนักเรียนบางคนมาเรียนต่อที่วิทยาลัยกลาง เหมือนกัน
 
          ในปี ค.ศ.1718  วิทยาลัยกลางมีเณร 50 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 14 คน  มาจากกรุงสยาม 24 คน มาจากประเทศตังเกี๋ย 5 คน จากประเทศโดจินจีน  และ 7 คนมาจากประเทศจีน เณรทั้งหมดแบ่งเป็น 6 ชั้น ชั้นที่หนึ่งสอนเทวศาสตร์และปรัชญา ชั้นที่สองสอนวรรณคดีลาติน ชั้นอื่นๆ นอกนั้นสอนภาษาลาติน กับภาษาทางภาคตะวันออกไกล
 
แนวใหญ่ๆ ของกฎวินัยที่ต้องถือในวิทยาลัยกลาง มีดังต่อไปนี้
   
เวลา 5.00 น.    ลุกขึ้น
เวลา 5.30 น.    ภาวนาส่วนตัว รำพึง ภาวนาพร้อมกัน
เวลา 6.00 น.    เรียนด้วยตนเอง
เวลา 7.00 น.    มิสซา
เวลา 8.00 น.    อาหารเช้า หย่อนใจครึ่งชั่วโมง
เวลา 9.00 น.    เรียนด้วนตนเอง
เวลา 10.00 น.   เรียนกับอาจารย์
เวลา 11.30 น.   ขับร้องเพลงเกรโกเรียน
เวลา 12.00 น.   อาหารเที่ยง หย่อนใจ
เวลา 14.00 น.   เรียนด้วยตนเอง
เวลา 15.30 น.   เรียนกับอาจารย์
เวลา 17.00 น.   ทำงานในสวน เช่น ถมดิน ขุดบ่อ “เพราะลำพังเขาเอง ไม่ชอบออกกำลังกายมากๆ
                      การทำงานทำให้เขาแข็งแรงและเหนื่อย เขาทำสวนและหาปลา เป็นการประหยัดเงิน”  
เวลา 18.30 น.   สวดสายประคำ อาหารว่าง หย่อนใจ
เวลา 20.00 น.   ทำวัตรค่ำ อ่านหนังสือศรัทธา ภาวนา เรียนเอง
 
        คุณพ่อรุสต์ อยากให้เลิกการเรียนเองครั้งสุดท้ายนี้ เพราะไม่เคยทำตามวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศฝรั่งเศส แต่ในที่สุด ท่านก็ยอมให้มีต่อไปเพราะ เณรบอกว่า “เพราะเป็นเวลาที่ดีที่สุดสำหรับทำงาน”
 
        วันอาทิตย์ทั้งวันอุทิศให้แก่การสวดภาวนา สลับด้วยการแปลคำสอน และมีการเพิ่มให้มีอีกอย่างหนึ่ง คือ การบรรยายพระคัมภีร์
 
         ในสมัยอธิการคนก่อนๆ วันอาทิตย์และวันฉลองต่างๆ นักเรียนเคยได้ร่วมพิธีในโบสถ์นักบุญโยเซฟที่อยุธยา คุณพ่อรุสต์เห็นว่า การออกจากบ้าน บ่อยๆ เช่นนี้ “ทำให้จิตใจวอกแวก เป็นที่เสียหายแก่การเรียน” จึงสั่งให้เลิกธรรมเนียมนี้เสีย
 
          วิทยาลัยกาลางปิดภาคเรียนสามเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน
 
          คุณพ่อรุสต์  สั่งหนังสือคลาสสิคจากประเทศฝรั่งเศส หนังสือเหล่านี้ขาดมือมาตั้งแต่สมัยที่วิทยาลัยกลางถูกปล้นในปี ค.ศ. 1688 ท่านจัดให้มีการสอบไล่ที่มีพระสังฆราชเป็นประธาน และมีมิชชันนารีที่อยู่นอกมิสซังอยู่ฟังด้วย ท่านจัดให้มีการแจกรางวัลอย่างสง่าแก่ผู้สอบไล่ได้ ท่านยังตั้งระเบียบวินัยให้ผ่อนลง ทั้งลดการลงโทษให้เบาลงด้วย เช่น จะให้ใช้หวายเฆี่ยน ก็เฉพาะคนที่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น เพราะคุณพ่อรุสต์ เห็นว่า “พวกศัตรู” โดยเฉพาะครูที่เป็นจีนเป็นต้น ทำโทษหนักเกินไป เช่น นักเรียนเป็นผิดไวยากรณ์ในการบ้าน กี่คำ หรือท่องบทเรียนผิดกี่คำ ก็เอาหวายเฆี่ยนเท่านั้นที
 
          การที่คุณพ่อรุสต์ ลดความเข้มงวดให้เบาบางลงเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะท่านเป็นคนอ่อนเกินไป  แต่คงเป็นเพราะท่านเป็นคนใจรักความยุติธรรม ท่านเฝ้าดูเณรด้วยความเอาใจใส่อย่างไม่รู้จักลดถอย เวลากลางวันท่านหย่อนใจอยู่กับเณร เวลากลางคืน ท่านลุกขึ้นไปตรวจดูตามห้องนอน
 
          ท่านถือหลักประการหนึ่ง คือ จะไม่ฟังการสารภาพบาปของเณร ผู้ที่มาฟังการสารภาพบาปของเณร คือ พระสงฆ์ที่อยู่วัดอยุธยา  แต่ท่านรับเป็นผู้ ดูแลวิญญาณของเณร ท่านมีความคิดเห็นทั่วไปเกี่ยวกับเณรดังนี้ “เขาเป็นเด็กดี มีความเกรงกลัวพระเป็นเจ้าอย่างแท้จริง แต่หลายคนอ่อนแอมากในการถือความบริสุทธิ์ บางคนถูกการประจญมาก แต่ต่อต้านอย่างกล้าหาญ”
 
สิ่งปลูกสร้างใหม่
        การจัดวิทยาลัยกลางให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ดูเหมือนจะสำเร็จและครบถ้วนได้ก็ด้วยการก่อสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาอีก อาคารที่มีอยู่แล้วล้วนสร้าง ขึ้นด้วนไม้ไผ่ และใบไผ่ทั้งสิ้น ก่อนอื่น คุณพ่อรุสต์ สร้างโบสถ์หลังหนึ่ง เป็นโบสถ์น้อย ทำด้วยดินและไม้กระดาน โบสถ์นี้ “สะอาดสะอ้าน ชวน ให้เกิดความศรัทธา” ต่อไปท่านก็สร้างห้องอาหาร แต่ที่สร้างนั้น ก็เป็นการสร้างแบบชั่วคราว และใน ปี ค.ศ.1719 วิทยาลัยอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จนความชื้นที่เกิดขึ้นในฤดูฝน ทำให้ทั้งอาจารย์และนักเรียนเจ็บป่วยไปตามๆ กัน
 
        ดังนั้น  คุณพ่อรุสต์จึงคิดจะสร้างอาคารขึ้นใหม่ แต่ท่านไม่มีอะไรสักอย่าง พระสังฆราชเดอ ซีเซ พูดในทำนองให้เข้าใจว่า เป็นการสัญญาหลายๆ จะให้เงินท่าน 10 ชั่ง อธิการน่าสงสารกล่าวว่า “แต่ข้าพเจ้าสงสัยเป็นกำลังว่า ใครจะสร้างบ้านให้คน 60 คน กลุ่มหนึ่งอยู่ได้ด้วยเงินน้อยนิดเท่านี้ แต่ชักสงสัยมากยิ่งกว่านั้นอีกว่า พระสังฆราชองค์นี้จะมีให้ข้าพเจ้าได้ถึงสิบชั่งอย่างไร”
 
          อย่างไรก็ตาม ท่านลงมือซื้อวัสดุ แล้วก็สั่งให้เณรทำงาน ที่สุด ท่านก็ได้รับเงินช่วยเหลือ 500 เบียสตร์จากสามเณราลัยมิสซังต่างประเทศ ครั้งถึงปี ค.ศ.1723 การก่อสร้างอาคารซึ่งเป็นไม้ทั้งหมด “แบบครั้งยุโรป ครึ่งเอเชียอาคเนย์” ก็เป็นอันแล้วเสร็จอาคารหลังนี้ “มีหน้าต่างภายนอก 19 บาน สูง 30 ฟุต ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้อง” “วิทยาลัยใหม่นี้ ใครๆ ก็ชมเปาะถึงจะให้ช่างสถาปนิกที่เชี่ยวชาญที่สุดในฝรั่งเศสสร้าง ก็คงสร้างให้ดีกว่า นี้ไม่ได้” นี่เป็นความเห็นของพระสังฆราช ของคุณพ่อโอม็องต์ และมิชชันนารีทุกองค์ที่ผ่านมากรุงสยาม
 
                                                         **********************************************************