ประวัติความเป็นมาหอจดหมายเหตุ

สืบค้นเอกสารหอจดหมายเหตุ

ห้องหนังสือ


วันนี้ในอดีต


24 เมษายน พ.ศ.2533 : นำกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ขึ้นสู่อวกาศเป็นผลสำเร็จ
กระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี (Space Shuttle Discovery) นำ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope : HST) ขึ้นสู่อวกาศเป็นผลสำเร็จ โดยองค์การนาซา (NASA) ของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้กล้องโทรทัศน์อวกาศตัวนี้ตั้งชื่อขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ เอ็ดวิน ฮับเบิล (Edwin Hubble) นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันผู้พิสูจน์ให้เห็นว่ามีแกแลกซีอยู่อีกมากมายเลยจากทางช้างเผือกออกไป ฮับเบิลเป็นกล้องกล้องโทรทรรศน์ที่โคจรเหนือผิวโลกประมาณ 611.5 กิโลเมตร เพื่อศึกษารังสีอัลตราไวโอเลต สำรวจชั้นโอโซนและถ่ายรูปวัตถุต่างๆ ในอวกาศ ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 20 ปี ใช้เงินทุนประมาณ 1.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฮับเบิลสามารถและได้ภาพที่มีชื่อเสียงเช่น เนบิวลาอินทรีย์ (Eagle Nebula) ถูกถ่ายเมื่อปี 2537 กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลนับว่ามีส่วนสำคัญในการเปิดหูเปิดตาชาวโลกให้เห็นความงามในขอบเขตของเอกภพที่กว้างใหญ่กว่าที่เคยคาดการณ์ไว้
24 เมษายน พ.ศ.2513 : จีนส่งดาวเทียม ดงฟางหง 1 ดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่ห้วงอวกาศ
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียม ดงฟางหง 1 (Dong Fang Hong 1) ดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ดงฟางหงพัฒนาและสร้างโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนจากสถาบัน Chinese Academy of Space Technology นำโดย Tsien Hsue-shen มีน้ำหนักเพียง 173 กิโลกรัม ส่งที่ฐาน Jiuquan Satellite Launch Center โดยจรวด Changzheng-1 (CZ-1 หรือ Long March-1) วัตถุประสงค์หลักของดาวเทียมดวงนี้คือการกระจายเสียงเพลง Dong Fang Hong ซึ่งมีความหมายว่า The East is Red หรือตะวันออกสีแดง เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน ประธานเหมา เจ๋อ ตง ดาวเทียมดวงนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานเพียง 20 วัน หลังจากหมดอายุก็กลับสู่พื้นโลกเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมปีเดียวกัน หลังจากประสพความสำเร็จของดงฟางหง 1 ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 5 ในโลกที่สามามารถส่งดาวเทียมสู่อวกาศได้ ต่อจากสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น
24 เมษายน พ.ศ.2517 : ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ได้รับการประกาศให้เป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ได้รับการประกาศให้เป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทั้งนี้เมื่อปี 2508 นายประเสริฐ อยู่สำราญ ป่าไม้เขตบ้านโป่ง ได้เห็นความสมบูรณ์ผืนป่าและมีการลักลอบล่าสัตว์กันมาก จึงทำหนังสือถึงกรมป่าไม้ให้กำหนดเขตดังกล่าวเป็นเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า ในปี 2510 กรมป่าไม้ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจและเห็นชอบพร้อมสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปกำหนดแนวเขตพื้นที่ ปี 2516 ได้มีคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งนำอาวุธสงครามและเฮลิคอปเตอร์ของทางราชการเข้าไปตั้งแคมป์ ล่าสัตว์มาฉลองวันเกิดกันอย่างสนุกสนาน ตอนขากลับเกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม กลายเป็นข่าวใหญ่กระจายไปทั่วประเทศและต่างประเทศ กรมป่าไม้จึงได้เร่งผลักดันจนสามารถประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรได้ในที่สุด เขตฯ ทุ่งใหญฯ มีพื้นที่ 2,000,000 ไร่ ต่อมาปี 2534 ได้มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติมเป็น 2,279,500 ไร่ นับเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขต อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และ อ. อุ้มผาง จ. ตาก หากนับรวมพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันแล้ว ถือได้ว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นหัวใจของผืนป่าตะวันตกซึ่งมีพื้นที่รวมกันกว่า 11 ล้านไร่ เป็นป่าผืนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับผืนป่าของประเทศพม่า เป็นแหล่งอาศัยกระจายพันธุ์ของสัตว์ป่าๆ จำนวนมาก และพืชพรรณนานาชนิด ป่าตะวันตกผืนนี้จึงมีความสำคัญมากจนได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น มรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี 2534 จากแรงผลักดันที่สำคัญของ สืบ นาคะเสถียร เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และนักอนุรักษ์คนสำคัญของไทย